วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

สายพันธุ์กล้วยไม้

      สายพันธุ์กล้วยไม้ต่างๆ เราได้พยายามรวบรวมรูป ลักษณะสายพันธุ์ วิธีการปลูกเลี้ยง เพื่อให้ทุกท่านได้ใช้เป็นความรู้เพื่อการต่อยอดในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ให้สวยงาม การผสมพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ที่ดีขึ้น ไม่ว่าท่านจะปลูกเลี้ยงเพื่องานอดิเรกหรือเป็นสวนกล้วยไม้ปลูกเพื่อจำหน่าย
กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีทั้งที่ชอบความชุ่มชื้นและที่ทนแล้ง ให้ดอกที่มีสีสันสวยงามแปลกตา มีขนาด รูปร่างและลักษณะหลากหลายเป็นอันมาก เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการและการปรับตัวอย่างสูงในหลายรูปแบบ เช่น สามารถเก็บน้ำและอาหารไว้ในส่วนต่างๆ ของลำต้นเพื่อใช้ในภาวะวิกฤติ สามารถพัฒนาอวัยวะที่เกี่ยวกับการ ผสมเกสรให้เหมาะสมกับพาหะต่างๆ อีกทั้งยังสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ทำให้ สามารถกระจายพันธุ์ได้ในทุกภูมิภาคของโลกดำรงชีวิตอยู่รอดและเจริญเผ่าพันธุ์ได้แม้ในสภาพธรรมชาติ วิกฤติที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพืชชนิดอื่น ลักษณะภายนอกของกล้วยไม้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพียงพอสำหรับการจำแนกกล้วยไม้ออกจากพืชวงศ์อื่น เนื่องจากมีหลายๆ ลักษณะที่โดดเด่นและแตกต่าง จากพืชชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน อาทิ รูปทรงของลำต้น ใบ ดอก ทั้งส่วนประกอบ ขนาด รูปร่าง สี และกลิ่น รูปร่าง ของฝัก เมล็ดที่มีขนาดเล็กเป็นฝุ่น ตลอดจนระบบราก หรือแม้แต่ถิ่นอาศัย ฯลฯ ที่ล้วนแต่แตกต่างกันไปนั้น สามารถใช้เป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกกล้วยไม้ ออกจากพืชวงศ์อื่นได้อย่างชัดเจน


การแบ่งกลุ่มกล้วยไม้ตามลักษณะที่ขึ้นอยู่ในสภาพธรรมชาติ


กล้วยไม้ไทยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มตาม สถานที่ขึ้นอยู่อย่างง่ายๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มกล้วยไม้อิงอาศัย (epiphytic orchids) ซึ่งมี จำนวนประมาณ 65% ของกล้วยไม้ทั้งหมด ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium spp.) สกุลหวายแดง (Renanthera spp.) สกุลฟ้ามุ่ย (Vanda spp.) ฯลฯ และกลุ่มกล้วยไม้ดิน (terrestrial orchids) ประมาณ 35% อาทิ สกุลปัดแดง (Habenaria spp.) สกุลเอื้องสีลา (Tainia spp.) สกุลนกคุ้มไฟ (Anoectochilus spp.) สกุลเอื้องดินใบหมาก (Spathoglottis spp.) นอกจากนี้ในกลุ่มของกล้วยไม้ดินยังสามารถจำแนกย่อยเฉพาะออกไปได้อีกเป็น กล้วยไม้กินซาก (saprophytic orchids) เช่น สกุลเถาวัลย์พันดง (Galeola spp.) สกุลกล้วยปลวก (Aphyllorchis spp.) นอกจากนี้และยังพบกล้วยไม้ที่ขึ้น บนหิน (lithophytic orchids) ซึ่งมีทั้งที่เป็นกล้วยไม้ดินและกล้วยไม้อิงอาศัย เช่น สกุลม้าวิ่ง (Doritis spp.) ฯลฯ การที่กล้วยไม้สามารถขึ้นอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ แตกต่างกันนี้ เนื่องจากมีวิวัฒนาการ และการปรับตัว ได้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ มาเป็นเวลานาน จึงมี ระบบราก ลำต้น ใบ ดอก ฝัก เมล็ด ตลอดจนลักษณะ การเจริญเติบโตฯลฯ ที่ผิดแผกแตกต่าง
การแบ่งกลุ่มกล้วยไม้ตามลักษณะการเจริญเติบโตกล้วยไม้สามารถจัดแบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของลำต้น ได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการเจริญทางยอด และกลุ่มที่มีการเจริญทางข้าง

·                กลุ่ม ที่มีการเจริญทางยอด (monopodial) ได้แก่ ชนิดที่มีลำต้นชัดเจนแล้วเจริญขยายทางปลายยอดด้านเดียว อาทิ สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.) สกุลกุหลาบ (Aerides spp.) สกุลพญาไร้ใบ (Chiloschista spp.) สกุลตีนเต่า (Gastrochilus spp.) สกุลหวายแดง (Renanthera spp.) สกุลไอยเรศ (Rhynchostylis spp.) สกุลเสือโคร่ง (Staurochilus spp.) และสกุลพลูช้าง (Vanilla spp.) ที่มีลำต้นยืดยาวออกไปได้หลายสิบเมตร ก็เจริญเติบโตด้วยวิธีนี้

·                กลุ่ม ที่มีการเจริญทางข้าง (sympodial) ได้แก่ กล้วยไม้ที่มีเหง้า ส่วนทอดเลื้อยหรือไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่แล้ว ก็สามารถแตกต้นใหม่หรือหน่อใหม่จากโคนกอหรือตามลำข้อ อาทิ สกุลหางแมงเงา (Appendicula spp.) สกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) สกุลน้ำต้น (Calanthe spp.) สกุลกะเรกะร่อน (Cymbidium spp.) สกุลหวาย ( Dendrobium spp.) และว่านเพชรหึง (Grammatophyllum speciosum) ที่มีลำต้นใหญ่คล้ายลำอ้อย ฯลฯ

ราก
เป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของกล้วยไม้ที่แตกต่างจากพืชชนิดอื่นชัดเจน โดยรากของกล้วยไม้มีลักษณะอวบน้ำ ส่วนใหญ่ที่เป็นรากอากาศนั้นจะไม่มีรากฝอย แต่มักมีเนื้อเยื่อหุ้มด้านนอกหนาคล้ายเป็นนวม เรียกว่า เวลาเมน (velamen) ซึ่งประกอบด้วยส่วนเนื้อเยื่อของเซลล์ที่ตายแล้ว มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ จึงสามารถดูดซับน้ำและแร่ธาตุ เข้าไปยังภายในเซลล์ของรากกล้วยไม้ได้ สามารถช่วยป้องกันการระเหยของน้ำในรากและการผ่านเข้าออกของ จุลินทรีย์ ซึ่งลักษณะของรากแบบนี้จะพบได้ทั้งในกล้วยไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ดิน นอกจากนี้ รากของกล้วยไม้ยัง
สามารถพัฒนาไปทำหน้าที่อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การยึดเกาะ การดูดซับน้ำและความชื้นในอากาศ การสะสมอาหาร การสังเคราะห์อาหารด้วยแสง และเปลี่ยนเป็นหัวใต้ดินหรือไหลช่วยในการขยายพันธุ์

กล้วยไม้มีระบบรากคล้ายกับพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป แต่ได้มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต สภาพ แวดล้อม และถิ่นอาศัยที่กล้วยไม้นั้นขึ้นอยู่ อาทิ กล้วยไม้ดินบางชนิดมีรากช่วยสะสมอาหาร เช่น สกุล ว่านแผ่นดินเย็น (Nervilia spp.) สกุลนางอั้ว (Habenaria spp.) และสกุลนางตาย (Peristylus spp.) ฯลฯ หรือที่มีลักษณะเป็นหัวใต้ดิน คล้ายเหง้าหรือไหล ได้แก่ว่านจูงนาง (Geodorum spp.) บางชนิดในสกุลว่านช้างผสมโขลง (Eulophia spp.) และบางชนิดมีรากแตกออกเป็นกระจุกที่โคนลำต้น เช่น สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.) และสกุลเอื้องสีลา (Tainia spp.) ฯลฯ


รากของกล้วยไม้อิงอาศัยเป็นรากอากาศ ไม่มีหน้าที่ในการสะสมอาหาร ทำหน้าที่หลักสำหรับการเกาะยึด แลกเปลี่ยนก๊าซ เพื่อการหายใจและช่วยทำหน้าที่สังเคราะห์อาหารด้วยแสง เช่น สกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) สกุลเอื้องหมาก (Coelogyne spp.) สกุลหวาย (Dendrobium spp.) ฯลฯ หลายชนิดมีรากอากาศแข็งแรง แตกออกเดี่ยวๆ ตามข้อใกล้โคนต้น ช่วยหยั่งยึดและพยุงลำต้น เช่น สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.) สกุลไอยเรศ (Rhynchostylis spp.) สกุลเสือโคร่ง (Staurochilus spp.) สกุลฟ้ามุ่ย (Vanda spp.) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชนิดที่มีลำต้นและใบลดรูป มีเพียง รากที่ทำหน้าที่หลักทุกอย่าง ทั้งการยึดเกาะ สร้างอาหาร ดูดซับความชื้น และแลกเปลี่ยนก๊าซ ได้แก่ สกุลพญาไร้ใบ (Chiloschista spp.) และสกุลเอื้องตีนตืด (Taeniophyllum spp.) ฯลฯ


ลำต้นหรือลำลูกกล้วย
กล้วยไม้หลายชนิด ได้ปรับโครงสร้างลำต้นให้เหมาะสมสำหรับการพยุงลำต้น การเก็บสะสมน้ำและอาหารเพื่อใช้ในสภาวะวิกฤติ โดยมีลำต้นโป่งพองหรือคล้ายอวบน้ำ เรียกว่า “ลำลูกกล้วย” (pseudobulb) และอวัยวะส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องเผชิญหรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมนานาประการโดยตรง จึงต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสม โดยพัฒนาเนื้อเยื่อภายในเป็นใยยาวและเหนียวหรือเป็นเสี้ยน ให้มีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นเหมาะสม กับที่ต้องถูกพัดด้วยแรงลม และให้สามารถทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหารได้ ส่วนบริเวณผิวนอกจะมีไขเคลือบหนา เพื่อลดการสูญเสียน้ำ และส่วนใหญ่มีสีเขียวของคลอโรฟีลล์ ทำให้สามารถสังเคราะห์ อาหาร ด้วยแสงได้อีกด้วย ลำต้นกล้วยไม้มีความผิดแผกกันไปทั้งขนาดและรูปร่าง ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดพันธุ์และสภาพแวดล้อม ที่กล้วยไม้นั้นขึ้นอาศัยอยู่ กล้วยไม้ไทยบางชนิดมีขนาดลำต้นเล็กเพียงประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อาทิ สิงโตไข่ปลา (Bulbophyllum moniliforme) และเอื้องไข่ปลาดุก (Bulbophyllum subtenellum) หรือที่มีลำลูกกล้วยคล้าย รูปน้ำเต้าทรงสูง เช่น เอื้องข้าวเหนียวลิง (Calanthe rosea) หรือเป็นข้อๆ ต่อกันชัดเจน เช่น เอื้องลำต่อ (Pholidota articulata) จนถึงขนาดลำต้นยาว 2-5 เมตร เช่น ว่านเพชรหึงหรือหางช้าง (Grammatophyllum speciosum) ซึ่งแตกลำ เป็นกอใหญ่ขึ้นอยู่ตามคาคบไม้และจัดว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดลำต้นใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ ที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยยาวได้ถึง 10-30 เมตร ได้แก่ พลูช้าง (Vanilla siamensis) กล้วยไม้ดินที่ไม่มีหัวหรือเหง้าสะสมอาหาร มักจะมีส่วน ลำต้นสั้น ไม่อวบอ้วน มีใบแผ่กว้างเพื่อเพิ่มพื้นที่รับแสง เช่น สกุลนกคุ้มไฟ (Anoectochilus spp.) และว่านน้ำทอง (Ludisia discolor) หลายชนิดมีลำต้นใต้ดินหรือเหง้า สำหรับการสะสมน้ำและอาหาร เช่น สกุลว่านจูงนาง (Geodorum spp.) และสกุลช้างผสมโขลง (Eulophia spp.) และอีกหลายๆ สกุลมีลำต้นอวบอ้วนเป็นลำลูกกล้วย เช่น สกุลเอื้อง น้ำต้น (Calanthe spp.) สกุลเอื้องลำไห (Plocoglottis spp.) สกุลเอื้องสีลา (Tainia spp.) สกุลเอื้องดินลาว (Spathoglottis spp.) และว่านพร้าว (Anthogonium gracile)  ส่วนชนิดที่ลำต้นสูงเรียว มีโครงสร้างที่เป็นแกนภายในประกอบ ด้วยเส้นใยยาวเหนียวหรือเป็นเสี้ยนที่ช่วยเสริมให้ลำต้น ยืดหยุ่นและ แข็งแรง ได้แก่ เอื้องดินใบไผ่ (Arundina graminifolia) เอื้องลิลา (Corymborkis veratrifolia) และสกุลเอื้องพร้าว (Phaius spp.) ฯลฯ
กล้วยไม้อิงอาศัยไม่มีรากหรือเหง้าที่ช่วยสะสมอาหาร แต่มีส่วนของลำต้นได้ช่วยทำหน้าที่นี้ จึงมัก อวบป่อง เป็นลำลูกกล้วยหรือลำยาวอวบอ้วน เช่น สกุลเอื้องหมาก (Coelogyne spp.) สกุลหวาย (Dendrobium spp.) สกุลก้านก่อ (Eria spp.) และโดยเฉพาะในสกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) หลายชนิดมีลำลูกกล้วยหลายลูกชัดเจนและ มีไหลเชื่อมต่อกัน
ใบและการเรียงตัวของใบ
หน้าที่หลักของใบ คือ การสังเคราะห์อาหารด้วยแสง ตลอดจนแลกเปลี่ยนก๊าซที่เกิดขึ้น ขณะดำเนินกระบวนการต่างๆ ภายในต้น ดังนั้นใบของกล้วยไม้ส่วนใหญ่จึงมีสีเขียวของรงควัตถุ คลอโรฟีลล์ และมีลักษณะที่ผ่านการปรับตัวขั้นสูงเพื่อช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในหลายๆ ด้าน เช่น มีใบที่อวบหนาเพื่อเก็บสะสมน้ำ ไว้ใช้อย่างเพียงพอและมีสารไขเคลือบหนาที่ผิวใบเพื่อช่วย ลดการคายน้ำ นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังสามารถสังเคราะห์อาหาร ด้วยแสงได้โดยวิธีพิเศษ คือวิธี Crassulacean acid metabolism (CAM) กล้วยไม้ดินบางกลุ่มที่ขึ้นอยู่ตามที่ร่มชื้นหรือป่าดงดิบที่มีแสงน้อย จะเพิ่มพื้นที่รับแสงโดยมีแผ่นใบกว้าง มีลวดลายและสีสันผิดแผกไป เช่น สกุลนกคุ้มไฟ (Anoectochilus spp.) ว่านน้ำทอง (Ludisia discolor) และนางลับแล (Mischobulbum wrayanum) ฯลฯ
ใบของกล้วยไม้มีรูปร่างต่างๆ หลายรูปแบบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญคือ แผ่นใบ และกาบใบ
แผ่นใบ (leaf blade) มีหลายรูปแบบและหลายลักษณะ ทั้งที่เป็น แผ่นบางซึ่งส่วนใหญ่พบในกลุ่มกล้วยไม้ดิน หรือเป็นแผ่นหนา อวบน้ำ เช่น สกุลเขี้ยวแก้ว (Trias spp.) หรือคล้ายแท่งกลม เช่น สกุลงูเขียว (Luisia spp.) สกุลเอื้องโมกข์  (Papilionanthe spp.) และหลายๆชนิดในสกุลก้างปลา (Cleisostoma spp.) หรือเป็นแผ่นกว้างแผ่ และค่อนข้างหนาเหนียว ซึ่งพบในกล้วยไม้ทั่วไป เช่น เอื้องแมลงปอ (Arachnis flosaeris) และสกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) หรือใบลดรูปมีขนาดเล็กเป็นเส้น เช่น สกุลพญาไร้ใบ (Chilochista spp.) กล้วยไม้ส่วนใหญ่มีใบสีเขียวแต่ในกล้วยไม้ดินบางสกุลมีใบ สีเข้มเกือบดำ เช่น สกุลนกคุ้มไฟ (Anoectochilus spp.) ว่านน้ำทอง (Ludisia discolor) หรือใบสีน้ำตาลอ่อนอมเขียว เช่น สกุลนางแอบ (Nephelaphyllum spp.) กล้วยไม้หลายๆ ชนิดมีการทิ้งใบเป็นช่วงสั้นๆ ในฤดูแล้ง หรือในระยะให้ดอก เช่น สกุลเอื้องสีลา (Tainia spp.) สกุลเอื้องน้ำต้น (Calanthe spp.) สกุลหวาย (Dendrobium spp.) และอีกหลายๆชนิดมีใบปรากฏอยู่ตลอดปี แต่กล้วยไม้กินซาก จะไม่มีใบหรือลดรูปจนสังเกตได้ไม่ชัดเจน การเรียงตัวของเส้นใบ ส่วนใหญ่เกือบจะทั้งหมดเป็น แบบเส้นขนานแต่มีหลายชนิดที่เป็นแบบร่างแหชัดเจน โดยเฉพาะ กล้วยไม้ดิน เช่น สกุลนกคุ้มไฟ (Anoectochilus spp.) สกุลประกายพรึก (Cheirostylis spp.) และว่านน้ำทอง (Ludisia discolor) ฯลฯ กาบใบ (leaf sheath) คือส่วนหนึ่งของใบที่อยู่ต่อจากแผ่นใบ ทำหน้าที่ห่อหุ้ม ป้องกันลำต้นและยึดใบไว้กับลำต้น บางชนิดหลุดร่วงไปเมื่อใบสมบูรณ์เต็มที่ บางชนิดก็มีปรากฏอยู่จนกระทั่งใบร่วง จำนวนใบที่พบส่วนใหญ่มีหลายใบ ออกเรียงสลับกันตลอดลำต้นและแน่นทางปลายยอด เช่น สกุลหวาย (Dendrobium spp.) หรือบางชนิดมีเพียงใบเดียวต่อหนึ่งยอดซึ่งมักจะพบในกล้วยไม้ที่มีขนาดเล็ก เช่น สกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) บางสกุลมี 2 ใบต่อหนึ่งยอด เช่น สกุลเอื้องหมาก (Coelogyne spp.) บางสกุลมีใบ 3-5 ใบ เช่น สกุลก้านก่อ (Eria spp.) ฯลฯ
ช่อดอกและการเรียงตัวของดอก
เมื่อเจริญสมบูรณ์เต็มที่ กล้วยไม้จะสร้างดอกเพื่อสืบพันธุ์ จุดที่ช่อดอกแตกออกมานั้น มีทั้งจากปลายยอด จากซอกใบใกล้ปลายยอด จากข้อตามลำต้น หรือที่โคนข้างลำต้น ช่อดอกมีทั้งที่เป็นช่อหรือดอกเดี่ยว ลักษณะ ช่อดอกมีทั้งตั้งขึ้นจนถึงห้อยลง กล้วยไม้ดินโดยส่วนใหญ่จะออกดอกเป็นช่อจากปลายยอด ได้แก่ สกุลนางอั้ว (Habenaria spp.) สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.) สกุลนางอั้วสาคริก (Pecteilis spp.) สกุลนางตาย (Peristylus spp.) ที่ออกดอกตามข้อใกล้ปลายยอด อาทิ เอื้องลิลา (Corymborkis veratrifolia) บางชนิดในสกุลเอื้องพร้าว (Phaius spp.) หรือบางชนิดออกดอกจากโคนลำต้นหรือข้างลำลูกกล้วย เช่น สกุลนกแก้วปากหงาย (Acanthephippium spp.) สกุลเอื้องน้ำต้น (Calanthe spp.) และสกุลเอื้องสีลา (Tainia spp.) ฯลฯ กล้วยไม้อิงอาศัยที่มีการเจริญทางยอด ส่วนใหญ่แตกช่อดอกออกตามข้อ โดยออกตรงข้ามกับใบ เช่น สกุลงูเขียว (Luisia spp.) สกุลเอื้องแมงมุม (Thrixspermum spp.) หรือออกตามซอกใบ เช่น สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.) สกุลฟ้ามุ่ย (Vanda spp.) กล้วยไม้อิงอาศัยที่มีการเจริญทางข้าง จะแตกช่อดอกได้หลายจุด เช่น ออกเป็นช่อจากโคนลำลูกกล้วย ได้แก่ สกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) สกุลกระสวย (Panisia spp.) สกุลกะเรกะร่อน (Cymbidium spp.) ฯลฯ หรือที่เป็นดอกออกเดี่ยวๆ จากโคนลำลูกกล้วย เช่น บางชนิดในสกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) หรือออกดอกเดี่ยวๆ  หรือเป็นช่อตามข้อใกล้ปลายยอดหรือที่ปลายยอด เช่น สกุลเอื้องหมาก (Coelogyne spp.) สกุลเอื้องกว่าง (Epigeneium spp.) สกุลเอื้องลำต่อ (Pholidota spp.) สกุลหวาย (Dendrobium spp.) และสกุลก้านก่อ (Eria spp.)
ลักษณะช่อดอกส่วนใหญ่เป็นแบบช่อกระจะ (raceme) เช่น สกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) สกุลประกายพรึก (Cheirostylis spp.) สกุลกะเรกะร่อน (Cymbidium spp.) สกุลหวาย (Dendrobium spp.) และสกุลแมงมุม (Thrixspermum spp.) หรือช่อแยกแขนง (panicle) เช่น บางชนิดในสกุลช้างดำ (Pomatocalpa spp.) บางชนิดในสกุลเอื้องจิ๋ว (Schoenorchis spp.) หรือช่อดอกคล้ายรูปพัดซึ่งพบในสกุลพัดโบก (Cirrhopetalum spp.) หรือช่อเป็นกระจุกแน่น (capitulum, head) เช่น บางชนิดในสกุลสิงโต (Bulbophyllum spp.) สกุลว่านจูงนาง (Geodorum spp.) หรือที่เป็นดอกเดี่ยว เช่น สิงโตสยาม (Bulbophyllum siamense) ฯลฯ
ดอก
กล้วยไม้เป็นพืชสมบูรณ์เพศ (hermaphrodite) มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ลักษณะดอกกล้วยไม้ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดที่ใช้ในการจำแนกหรือตรวจหาชื่อวิทยาศาสตร์ของกล้วยไม้ แต่ละชนิด ถึงแม้ว่าจะมีความหลากหลายทั้งในด้านสีสัน รูปร่าง ขนาด และกลิ่น ฯลฯ แต่โครงสร้างที่เป็นส่วน ประกอบหลักของดอกกล้วยไม้จะคล้ายคลึงกัน
กล้วยไม้ส่วนใหญ่มีแมลงเฉพาะชนิดเป็นพาหะในการถ่ายละอองเรณูและผสมเกสร มีทั้งผึ้ง ผีเสื้อกลางวัน ผีเสื้อกลางคืน แมลงปีกแข็ง และยุง ฯลฯ จึงมีการปรับตัวเพื่อให้พาหะเหล่านั้นเข้ามาผสมเกสรได้โดยง่าย นอกจากลักษณะโดยทั่วไปแล้ว รูปร่าง สี กลิ่นและการสร้างน้ำหวานในดอก ตลอดจนการปรับองศาของดอก ให้ตั้งในระดับต่างๆ ล้วนเป็นวิวัฒนาการอย่างสูงของกล้วยไม้ เพื่อให้แมลงเฉพาะชนิดมาผสมเกสรได้อย่างเหมาะ
ภาพลักษณะและส่วนประกอบของดอกกล้วยไม้ :


ส่วนประกอบที่สำคัญของดอกกล้วยไม้ได้แก่:
  • กลีบเลี้ยง (sepal) คือกลีบที่อยู่ชั้นนอกสุดหรือด้านหลังสุด ทำหน้าที่ห่อหุ้มส่วนประกอบอื่นของดอกไว้ ขณะที่ดอกตูม โดยส่วนใหญ่แล้ว กลีบเลี้ยงของกล้วยไม้มีจำนวน 3 กลีบ รูปร่างและสีสันค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ยกเว้นในกลุ่มรองเท้านารีมีกลีบเลี้ยง 2 กลีบ
  • กลีบดอก (petal) คือวงกลีบชั้นในถัดจากกลีบเลี้ยง จำนวน 3 กลีบ มีกลีบหนึ่งเปลี่ยนรูป และสีสันแตกต่าง ออกไป เรียกว่า กลีบปากหรือกลีบกระเป๋า (lip, labellum) มักพบกลุ่มเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่สร้างสารให้กลิ่น หรือผลิตน้ำหวานจะอยู่ที่ส่วนฐานของกลีบปากนี้
  • เส้าเกสร (column) เป็นส่วนประกอบที่อยู่ตรงกลางดอก เกิดจากการหลอมรวมกันของก้านเกสรเพศผู้ และ ก้านเกสรเพศเมีย ตำแหน่งของกลุ่มเรณู (pollinium) อยู่ด้านบน และยอดเกสรเพศเมีย (stigma) ที่ส่วนใหญ่ เปลี่ยนลักษณะแผ่ออกเป็นแอ่งใสและ เหนียวอยู่ด้านหน้าโดยมีจงอยเล็ก (rostellum) เป็นส่วนกั้น ในกล้วยไม้บางกลุ่ม เช่น สกุลหวาย (Dendrobium spp.) หรือสกุลก้านก่อ (Eria spp.) ส่วนโคนของเส้าเกสรจะยืดยาวออกไปอย่างชัดเจน ที่เรียกว่า “column foot”
  • จงอยเล็ก (rostellum) คือจงอยเกสรเพศเมีย ทำหน้าที่กั้นแบ่งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียไม่ให้เกิดการถ่าย เรณูในต้นเดียวกัน (self-pollination) และมีการปรับตัวเป็นพิเศษในธรรมชาติ คือ หากดอกไม่ได้รับการผสมหรือ ถ่ายเรณูข้ามดอก (cross-pollination) ในช่วงสุดท้ายเมื่อดอกใกล้โรย จงอยส่วนนี้จะเหี่ยวลงอย่างรวดเร็ว จนกลุ่มเรณู สัมผัสกับยอดเกสรเพศเมียและเกิดการผสมในดอกเดียวกันได้
  • เกสรเพศผู้ (stamen) ประกอบด้วย กลุ่มเรณู (pollinium) และฝาครอบกลุ่มเรณู (anther cap, operculum)
    กลุ่มเรณู (pollinium) คือลักษณะละอองเรณูของเกสรเพศผู้ที่อยู่รวมกัน คล้ายก้อนขึ้ผึ้ง รูปร่างอาจเป็นรูปกลม รูปรี คล้ายถุงบางใสหรือขาวขุ่น หรือเป็นเกล็ดเล็กๆจำนวนมาก ติดอยู่บนก้านรองกลุ่มเรณูสั้นๆ (stipe) หรือ บางชนิดไม่มีก้าน เช่น ในสกุลหวาย (Dendrobium spp.) ส่วนใหญ่ที่ปลายก้านจะมีติ่งเหนียว (viscidium) ติดอยู่ ทำหน้าที่คล้ายกาวช่วยยึดกลุ่มเรณูให้สามารถเกาะติดกับพาหะถ่ายเรณู (pollinator) ได้โดยง่าย กลุ่มเรณู โดยทั่วไปจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบนก้านรองสั้นๆ เรียกรวมๆว่า ชุดกลุ่มเรณู (pollinaria)
  • ฝาครอบกลุ่มเรณู (anther cap, operculum) คือส่วนประกอบที่อยู่บนสุดของเส้าเกสร ทำหน้าที่บังหรือห่อหุ้ม
    กลุ่มเรณู ทำให้เกิดการผสมได้อย่างมีประสิทธิภาพเฉพาะพาหะที่เหมาะสมโดยสามารถเปิดได้ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอม หรือแรงจากภายนอกมากระทบ
  • เกสรเพศเมีย (pistil) ประกอบด้วยส่วนของยอดเกสรเพศเมียและรังไข่ โดยยอดเกสรเพศเมีย (stigma) เป็นแอ่งขนาดเล็กโดยทั่วไปมีลักษณะผิวฉาบบางๆ ด้วยน้ำหวานที่มีลักษณะใสเหนียว อยู่บริเวณด้านหน้าของเส้าเกสร
  • รังไข่ (ovary) อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าส่วนของวงกลีบดอก (inferior ovary) หรืออยู่ด้านหลังส่วนใหญ่ มีลักษณะแคบยาวโดยฝังตัวอยู่ใน ก้านดอกใกล้กับโคนดอก
  • ก้านดอก (peduncle) คือส่วนที่ทำหน้าที่ชูดอกและยึดดอกย่อยให้ติดกับก้านช่อดอก กล้วยไม้บางชนิด ไม่มีก้านดอก หรือขนาดสั้นมากจนดูไม่คล้ายเป็นก้านดอกฝักและเมล็ด

    เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว รังไข่จะเจริญเป็นผล ผลของกล้วยไม้เรียกว่า ฝัก (pods) ซึ่งมีรูปร่างหลากหลาย ทั้งรูปทรงกระบอกยาว รูปกลม รูปไข่หรือรูปรี เมื่อยังอ่อนจะมีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อฝักแก่ เมื่อแห้งหรือแก่จัดจะแตกออกตามยาว การติดฝักหรือที่เรียกว่าถือฝักของกล้วยไม้นั้นจะมีช่วงยาวนานไม่เท่ากัน เช่น สกุลเอื้องดินใบหมาก (Spathoglottis spp.) ประมาณ 1-2 เดือน สกุลหวาย (Dendrobium spp.) และสกุลเอื้องพร้าว (Phaius spp.) 4-12 เดือน สกุลฟ้ามุ่ยและสามปอย (Vanda spp.) 16-18 เดือน ฯลฯ

    จากปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นสาเหตุให้กล้วยไม้ต้องมีเมล็ดจำนวนมาก เพื่อให้มีบางส่วนสามารถเจริญ ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ เมล็ดกล้วยไม้จำนวนนับแสนหรือนับล้านเมล็ดเหล่านี้จะอัดแน่นอยู่ในฝัก เมื่อฝักแก่ และแตกออกจะมีเพียงไม่กี่เมล็ดที่จะปลิวและตกลงได้ในสถานที่เหมาะสมกับการงอกและเจริญเติบโตต่อไป

    เมล็ดกล้วยไม้ที่มีขนาดคล้ายแป้งหรือฝุ่นและมีจำนวนมากนี้ สามารถปลิวฟุ้งกระจายไปไกลด้วยลม แต่ภายในเมล็ดไม่มีอาหารสะสมสำหรับช่วยในการงอก จึงมีความสามารถในการงอกต่ำ ดังนั้นเมื่อปลิวไปแล้ว จึงต้องอาศัยแหล่งที่เมล็ดไปตกอยู่อย่างเหมาะสมจึงจะงอกได้ และเมื่อเริ่มงอกในเซลล์รากของต้นอ่อน ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก คือพวกไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) อาศัยอยู่ จะช่วยทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์สาร ทำให้เกิด กระบวนการสร้างอาหารเพื่อใช้สำหรับการงอก และเจริญเติบโตต่อไปจนเป็นต้นสมบูรณ์ และอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพา

    อาศัย (symbiosis) ไปจนตลอดอายุขัยของกล้วยไม้นั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น