วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

การค้นพบกล้วยไม้



แถบที่จะพบกล้วยไม้มากในแต่ละภูมิภาคของโลกคือ    แถบที่มีอากาศร้อนถึงอบอุ่น   ในเขตหนาวก็มีบ้าง  เช่น  ในทวีปยุโร ตอนเหนือ     สำหรับในประเทศไทยนั้น  นับว่าเป็นเขตที่มีสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมแก่การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาก   มีกล้วยไม้ป่าชนิดต่างๆไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด  ทั้งชนิดที่เป็นช่อรวมกันหลายๆดอก   และชนิดดอกเดี่ยว  แต่ละชนิดก็จะมีชื่อเรียกต่างๆกันมากมาย เช่น   แวนดา   หวายต่างๆ   เอื้องต่างๆ  เป็นต้น   นอกจากนั้นยังมีผู้ผสมพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาเรื่อยๆ     กล้วยไม้ในบ้านเมืองของเราจึงเป็นพืชไม้ดอกที่คนนิยมซื้อ   เพื่อให้กันและกันในวาระต่างๆอย่างแพร่หลายในประเทศ  และยังเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศที่ไม่น้อยหน้าใครอีกด้วย
กล้วยไม้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  "orchid"  น่าแปลกที่ทั้งในภาษา   ไทยและอังกฤษต่างก็มีความหมายใกล้เคียงกัน   เราเรียกพืชชนิดนี้ว่ากล้วยไม้  เพราะมีลักษณะคล้ายกล้วย  ได้แก่  เอื้องต่างๆ   เช่น  เอื้องผึ้งหรือเอื้องคำ   ซึ่ง มีมากในแถบภาคเหนือของประเทศ  ส่วนของกล้วยไม้บางตอนมีลักษณะคล้ายผลกล้วยเราเรียกว่า     ลำลูกกล้วย   คำว่า  "orchid"   นั้นมาจากภาษากรีก หมายความถึง    ลักษณะโป่งเป็นกระเปาะคล้ายต่อม    ชื่อนี้ก็คงจะได้มาจากการพิจารณาจากลำลูกกล้วยที่เป็นส่วนของกล้วยไม้บางชนิดเช่นเดียวกัน แต่ลักษณะพื้นฐานทางพฤกษศาสตร์ที่บรรยายลักษณะพืชในวงศ์กล้วยไม้ ได้ยึดถือรายละเอียดต่างๆของดอกเป็นหลักสำคัญ  พันธุ์ไม้ที่ไม่มีลำลูกกล้วยอีกหลายชนิด  จึงถูกจัดรวมเข้ามาอยู่ในขอบข่ายของพืชในวงศ์กล้วยไม้ด้วย
กล้วยไม้มีสภาวะความเป็นอยู่ตามธรรมชาติแตกต่างกัน  บางชนิดอยู่บนพื้นดิน   บางชนิดอยู่บนต้นไม้   และบางชนิดขึ้นอยู่บนหินที่มีหินผุและใบไม้ผุตกทับถมกันอยู่  ทั้งนี้สุดแล้วแต่ลักษณะและอุปนิสัยของกล้วยไม้แต่ละชนิด  ซึ่งจะปรับตัวตามความเหมาะสมกับสภาวะ  และการเปลี่ยนแปลงตามสภาพต่างๆของธรรมชาติที่แวดล้อม    กล้วยไม้แต่ละชนิดต่างก็มีลักษณะและระบบของรากที่เข้ากับสิ่งที่ไปอาศัยพักพิงอยู่อย่างเหมาะสมที่สุด
กล้วยไม้ชนิดที่ขึ้นอยู่บนดิน     รากจะมีลักษณะเป็นหัวและอวบอิ่มไปด้วยน้ำ    จึงมีศัพท์เฉพาะที่บรรยายลักษณะของรากเช่นนี้ว่า  "อวบน้ำ"  กล้วยไม้  ประเภทนี้มีอยู่หลายสกุล    เช่น   สกุลฮาเบนาเรีย (Habenaria) เพกไทลิส (Pecteilis) และแบรกคีคอไรทิส (Brachycorythis) เราเรียกกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า  กล้วยไม้ดิน  ในบ้านเราที่พอจะจัดเข้าประเภทนี้ได้ก็คือ นางอั้ว  นางกรวย   และท้าวคูลู  ซึ่งจะผลิดอก  ในระหว่างกลางถึงปลายฤดูฝนของแต่ละปี   เราอาจจะพบกล้วยไม้ประเภทนี้อีกหลายชนิด ขึ้นอยู่ในภูมิภาคต่างๆของโลกอย่างกว้างขวาง   แม้แต่เขตหนาวเหนือของทวีปยุโรป  เช่น  ตามหมู่เกาะต่างๆ  ในทะเลบอลติก   ซึ่งในฤดูหนาวมีหิมะตกทับถมบนพื้นดินหนามาก   และเป็นเวลานานหลายเดือนด้วย   แต่กล้วยไม้เหล่านี้ก็คงทนอยู่ได้   เนื่องจากมีความสามารถพิเศษในการปรับลักษณะของตัวเองให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ของฤดูกาลที่ปรากฏเป็นประจำในรอบปีได้  กล่าวคือ  เมื่อถึงฤดูที่อากาศหนาวจัดหรือแห้งจัด    ต้นและใบที่อยู่เหนือพื้นดินจะแห้งไป     คงเหลือแต่หัวฝังตัวอยู่ภายใต้ผิวดิน   ครั้นพอถึงฤดูที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม  ก็จะเจริญขึ้นมาเป็นต้นและใบ   เมื่อเจริญเต็มที่  ก็จะผลิดอกและสร้างหัวใหม่  เพื่อเก็บสะสมอาหารไว้ใต้ผิวดินอีก    เมื่อหัวใหม่เจริญเต็มที่     ส่วนต้น   ใบ   และดอกเหนือผิวดินก็จะถึงเวลาแห้งเหี่ยวพอดี  ส่วนหัวจะพักรอเวลาที่อากาศเหมาะสม  ก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ดังนี้เรื่อยไปนอกจากกล้วยไม้ดิน  ซึ่งมีหัวเป็นที่สะสมอาหารใต้ดินแล้ว    ยังมีกล้วยไม้ประเภทไม่มีหัว   และชอบขึ้นอยู่บนหินภูเขาที่มีเศษหินผุ     และเศษใบไม้ผุตกทับถมกันอยู่หนาพอสมควร   เป็นกล้วยไม้ในสกุลพาฟิโอเพดิลัม (Paphiopedilum)  หรือที่คนไทยเรียกกันว่า   กล้วยไม้รองเท้านารี  และยังมีบางประเภทซึ่งเกาะอยู่บนคาคบไม้    ซึ่งจะพบได้ในเขตร้อน  เช่น  กล้วยไม้ในสกุลแวนดา (Vanda)  คัทลียา  (Cattleya)   และสกุลเดนโดรเบียม (Dendrobium) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า สกุลหวาย   กล้วยไม้ประเภทนี้จะมีลักษณะแปลกออกไปคือ   มีรากใหญ่    ยาวและแตกแขนงรากอย่างโปร่งๆ เป็นรากอากาศ   แม้จะเกาะกับต้นไม้ ก็จะมีส่วนที่ยาวและห้อยลงมาในอากาศด้วย  แต่รากกล้วยไม้สกุลคัทลียาและเดนโดรเบียมมีลักษณะค่อนข้างเล็ก   ละเอียด   และหนาแน่น  ไม่โปร่งอย่างแวนดา   บางตำราจึงแยกกล้วยไม้สกุลคัทลียา และเดนโดรเบียมไปไว้ในประเภทกึ่งอากาศ
              กล้วยไม้ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้มิใช่กาฝาก   เป็นเพียงอาศัยเกาะ และอาศัยร่มเงาจากกิ่งและใบของต้นไม้เท่านั้น    มิได้แย่งอาหารใดๆจากต้นไม้ที่อาศัยเกาะนั้นเลยรากของกล้วยไม้ได้อาศัยความชื้นจากอากาศ หรือจากเปลือกของต้นไม้  และอาศัยธาตุอาหารต่างๆ  จากการผุและสลายตัวของใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงมาค้างอยู่ตาม กิ่งไม้ หรือจากเปลือกชั้นนอกของต้นไม้ที่ผุเปื่อยแล้ว   กล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่มีสีเขียว   เช่นเดียวกับต้นไม้ทั่วไป  จึงมีความต้องการแสงสว่าง  น้ำหรือความชื้น  ธาตุอาหาร  และอุณหภูมิที่เหมาะสม   เพื่อการดำรงชีวิต  การเจริญเติบโต    และผลิดอกออกช่อตามเวลาอันสมควร   ไม่แตกต่างไปจากต้นไม้อื่นๆ เลย



ประโยชน์ของกล้วยไม้




            กล้วยไม้ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในสังคมของมนุษย์เป็นเวลาช้านานแล้ว   ดังจะเห็นได้ว่า  ในประวัติศาสตร์ของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีศิลปวัฒนธรรมซึ่งน่าสนใจ  และแผ่กระจายออกไปทั่วโลก    ก็ยังมีหลักฐานปรากฏบทบาทของกล้วยไม้อยู่ด้วย  เช่น  ภาพเขียนที่ปรากฏตามโบราณวัตถุต่างๆประเทศในยุโรป  บางประเทศที่ได้ทำการสำรวจดินแดนในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียและอเมริกาในสมัยก่อน  ก็ได้มีการนำกล้วยไม้นานาชนิดกลับไปเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ รวมทั้ง ได้มีการเริ่มผสมพันธุ์เพื่อประโยชน์ต่างๆด้วย    เมื่อความเจริญทางด้านสังคม  เศรษฐกิจ  และวิทยาการได้ขยายตัวกว้าง-ขวางออกไป  ก็ได้ปรากฏว่า ประเทศต่างๆซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก และมีความเจริญพอสมควร  ได้ให้ความสนใจในการเลี้ยงกล้วยไม้กันทั่วๆไป   เมื่อได้วิเคราะห์ความนิยมในวงการกล้วยไม้ของประ-เทศต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้ว  สามารถจะสรุปได้ดังนี้
            กล้วยไม้เป็นพืชซึ่งใช้เป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับธรรมชาติและชีวิตของพันธุ์ไม้ได้อย่างดี    เนื่องจากกล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่มาก   ลักษณะทางพันธุศาสตร์จึงมีความแตกต่างกันอย่างกว้างขวาง   และยังมีการกระจายพันธุ์อยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ผิดแผกแตกต่างกันอีกด้วย  ทั่วโลก แม้ว่าจะได้มีการนำกล้วยไม้มาเลี้ยง  และศึกษาวิจัยนานพอสมควรแล้วก็ตาม    แต่ก็ยังได้มีรายงานว่าได้มีการค้นพบและตั้งชื่อทาง พฤษศาสตร์แก่กล้วยไม้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ  ดังนั้น นักวิชาการพฤกษศาสตร์สาขาต่างๆ และพืชศาสตร์จึงได้ให้ความสนใจที่จะนำกล้วยไม้มาเป็นพืชตัวอย่างเพื่อการศึกษาและวิจัยในสาขานั้นๆยิ่งไปกว่านั้น    ในสังคมของผู้นิยมเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกก็ประกอบด้วยบุคคลในหลายสาขาอาชีพ  ผู้ที่มีความถนัดในสาขาวิชาการใด  ที่จะนำมาใช้พัฒนาการเลี้ยงกล้วยไม้ได้ ก็จะให้ความสนใจนำวิชาชีพที่ตนถนัดมาใช้  ให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุง การเลี้ยงกล้วยไม้ด้วย  สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวกับต้นไม้     บางคนมีรสนิยมในการรวบรวมพันธุ์และศึกษากล้วยไม้ป่านานาชนิด     และยังมีการศึกษาค้นคว้าจากตำราต่างๆ อย่างกว้างขวาง   กล้วยไม้จึงเป็นพืชที่สามารถดึงดูดความสนใจจาก คนหลายประเภทให้ศึกษาวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ดอกไม้เป็นอย่างดี
            ความเจริญในสังคมทั่วๆไปที่ได้ผ่านมาแล้วนั้น ได้เน้นหนักไปในด้านวัตถุเป็นอย่างมาก   การเพิ่มของจำนวนประชากรในส่วนต่างๆของโลกก็ดี  ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ  ตลอดจนทางด้านสังคม   และเศรษฐกิจ       ทำให้คนเราต้องมีภารกิจการงานหนักมากยิ่งขึ้น      ปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวันนับเป็นแรงกดดันที่สำคัญทางจิตใจ  ประชาชนในประเทศต่างๆที่เจริญพอสมควรแล้ว  จึงมีความสนใจทำงานอดิเรกเพื่อเป็นการพักผ่อนจิตใจในยามว่าง     การเลี้ยงกล้วยไม้จัดได้ว่า   เป็นงานอดิเรกที่ สร้างสรรค์  ทั้งในด้านจริยธรรมและการศึกษาไปในตัว  รวมทั้งได้มีโอกาสผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจในขณะที่อยู่กับต้นไม้   ทั้งยังศึกษาและติดตามการเจริญเติบโต  และได้ชมดอก ที่สวยงาม  หรือลักษณะแปลกๆ  ซึ่งเป็นผลงานของแต่ละคน
            กล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่มีขนาดพอเหมาะสม  การเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกจึงสามารถกระทำได้   แม้ในบริเวณสวนหลังบ้านซึ่งมีที่ดินเพียงเล็กๆ น้อยๆ   หรือแม้แต่ตามซุ้มต้นไม้  ตลอดจนไม้ยืนต้นที่ปลูกในบริเวณบ้าน    หากมีสภาพโปร่ง  ให้แสงแดดส่องลงได้พอสมควร   ก็สามารถใช้เป็นที่ปลูกกล้วยไม้ได้  กล้วยไม้จึงเป็นไม้ดอกไม้ประดับบ้านให้สวยงามได้อย่างดี    บ้านนับเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตและครอบครัว    บ้านที่มีพันธุ์ไม้สวยงามพอสมควรเป็นสิ่งประดับ    ย่อมจะช่วยให้บ้านมีความน่าอยู่ยิ่งขึ้น   จิตใจของคนที่อยู่ในบ้านย่อมมีความแจ่มใส     บุตรหลานในครอบครัวซึ่งจะเติบโตขึ้นมาในอนาคต จะได้พบเห็นสิ่งที่ดี เสริมสร้างจิตใจในชีวิตประจำวัน   และถ้าได้มีการฝึกอบรมให้ บุตรหลานได้มีจิตใจรักและช่วยดูแลทำนุบำรุงสิ่งเหล่านี้เป็นงานประจำแล้ว   ย่อมเป็นสิ่งที่บังเกิดผลดีในอนาคต
           หลักสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตคนในสังคมทั่วๆไป  ก็คือคนเราจะอยู่แต่ลำพังคนเดียวไม่ได้  จำเป็นต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างบุคคลต่อบุคคล    ครอบครัวต่อครอบครัวและระหว่างประเทศต่างๆ ที่จะต้องอยู่ร่วมกันในโลกนี้  ทุกวันนี้มนุษย์เราจึงพยายามหาจุดแห่งความสนใจร่วมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์  และความเข้าใจดีระหว่างกันและกัน    อันเป็นหลักการและแนวทางที่จะมุ่งไปสู่ความสงบของมวลมนุษยชาติ   วงการกล้วยไม้ในแต่ละประเทศหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีความเจริญทางจริยธรรมพอสมควร  ได้มีการพัฒนากล้วยไม้ตามแนวทางดังกล่าวนี้ด้วย   ดังจะเห็นได้ว่า  มีประเทศต่างๆทั่วโลกเป็นจำนวนมากให้ความสนใจเลี้ยงกล้วยไม้  และมีสมาคม ผู้เลี้ยงกล้วยไม้   เพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ  และมีการแลกเปลี่ยน ความรู้  ประสบการณ์  ตลอดจนพันธุ์ไม้ต่างๆระหว่างกัน    นอกจากนั้น   ยังได้มีการสร้างสรรค์และเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของวงการกล้วยไม้ระหว่างประเทศ  ดังจะเห็นว่า ได้มีการจัดการประชุมกล้วยไม้ระหว่างประเทศในภาคพื้นยุโรปขึ้นทุกๆ ๓    ปี   โดยหมุนเวียนไปตามประเทศต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคนั้น  และได้มีการริเริ่มงานชุมนุมกล้วยไม้โลกขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๙๗ ณ เมืองเซนต์หลุยส์  มลรัฐมิสซูรี  สหรัฐอเมริกา นับแต่ นั้นมา งานชุมนุมกล้วยไม้โลกก็ได้จัดขึ้นทุกๆ ๓ ปี  โดยหมุนเวียนไปตามประเทศต่างๆ ตามข้อตกลงในที่ประชุมที่ผ่านมา  สำหรับประเทศไทยนั้น ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ ๙ ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๒   ซึ่งปรากฏว่า ได้มี บุคคลต่างชาติต่างภาษาและต่างสาขาอาชีพจาก   ๔๑  ประเทศ มาร่วมประชุมกันประมาณ  ๓,๐๐๐ คน บุคคลในวงการกล้วยไม้ จึงมีการติดต่อถึงกันในมุมต่างๆของชีวิตอย่างกว้างขวาง   ทั้งในด้านความรักความสนใจธรรมชาติ  ความสัมพันธ์ทางจิตใจ  และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ    ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้ ค้นพบใหม่ๆ ด้วย   
            จากประโยชน์ที่สังคมได้รับจากกล้วยไม้ดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด จึงทำให้กล้วยไม้เป็นที่ต้องการในกลุ่มคนโดยทั่วๆไป ดังนั้น  จึงเกิดธุรกิจการค้าเกี่ยวกับกล้วยไม้ติดตามมา  อันเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  ซึ่งมีตั้งแต่ที่เป็นผลพลอยได้จากการ เลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกในครอบครัวไปจนถึงการประกอบ อาชีพหลักด้วยการเลี้ยงกล้วยไม้    การค้ากล้วยไม้นั้นก็มีการขายทั้งต้นและดอก   การขายต้นจำแนกออกไปได้เป็น  ๒  แนวทางคือเพื่อนำไปปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก  นำไปทำพันธุ์เพื่อการขยายออกไป  หรือจำหน่ายไปสู่การปลูกเพื่อตัดดอกเป็นการค้าก็ได้อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้ากล้วยไม้ก็จะต้องเข้าใจถึงประโยชน์อันแท้จริงที่กล้วยไม้ได้อำนวยให้แก่สังคมดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด  และต้องร่วมมือกันรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ดีที่สุด เพื่อให้ธุรกิจการค้ากล้วยไม้มีความมั่นคงถาวร หรืออาจกล่าวโดย สรุปได้ว่า ผู้ที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกล้วยไม้ควรจะได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ผู้สนใจเลี้ยงกล้วยไม้ได้รับประโยชน์ จากกล้วยไม้ในทางที่ถูกต้องด้วย


การออกขวดและปลูกไม้นิ้ว



หลังจากที่เราได้ขวดกล้วยไม้มาจากแล๊ปถ้ายังไม่พร้อมที่จะออกขวดก็สามารถเก็บไว้ได้ โดยที่ห้ามตากฝนหรือเปียกน้ำเป็นอันขาด เพาระจะทำให้เชื้อราเข้าทางจุกปากขวดได้ วิธีการเก็บก็เก็บใต้ซาแลนที่มีความเข้ม50% สำหรับท่านที่พร้อมแล้วมาดูวิธีการออกขวดกันครับ
การออกขวดทำได้สองวิธีคือทุบก้นขวด หรือใช้ลวดเกี่ยวต้นอ่อนออกมา สำหรับท่านที่ซื้อไม้ขวดมาเลี้ยงเองไม่ต้องคืนขวดให้แล๊ป ใช้วิธีทุบก้นขวดจะดีกว่าทำให้ต้นอ่อนไม่ช้ำ สำหรับกล้วยไม้ที่มีรากขนาดใหญ่ เช่น ช้าง ควรใช้วิธีทุบก้นขวดเพราะจะไม้ทำให้รากช้ำ
เริ่มด้วยการใช้ฆ้อนทุบก้นขวดกะระยะให้แตกใกล้กับก้นขวดนะครับ หรือใช้ลวดเกี่ยว
เก็บเศษแก้วออกให้หมด ระวังโดนมือ
นำต้นอ่อนไปล้างในน้ำเปล่าให้วุ้นออกให้หมด

เวลาจับให้จับที่ต้นนะครับรากจะได้ไม่ช้ำ
หลังจากนั้นนำมาเรียงในตะกร้า ระยะนี้ต้องระวังไม่ให้โดนฝนโดยเด็ดขาดนะครับ เพราะเม็ดฝนจะทำให้ต้นอ่อนช้ำแล้วเกิดโรคเข้าได้ ระยะนี้เน่าตายทั้งตะกร้ามานักต่อนักแล้วละครับ

การปลูกเลี้ยงรองเท้านารี


รองเท้านารี
กล้วยไม้รองเท้านารี (Paphiopedilum spp.) หรือที่รู้จักในนาม "Lady Slipper" เนื่องจากลักษณะของกลีบปากที่มีลักษณะคล้ายรองเท้าของผู้หญิงนั้นเอง อันเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “lady slipper” หรือ “slipper orchid” กลีบปากที่เป็นกระเป๋านี้ยังได้ซ่อนกลเม็ดอันแยบยล เป็นกล้วยไม้ที่พบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น


ประเทศไทยเป็นแหล่งที่พบแหล่งใหญ่ของกล้วยไม้รองเท้านารีหลากหลายชนิด  ทั่วโลกพบประมาณ 70 ชนิด
ส่วนมากชื่อตั้งตามแหล่งที่พบ เช่น ขาวสตูล เหลืองกระบี่ โดยแบ่งกว้างๆได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

กลุ่มที่มีกลีบดอกแผ่กว้าง ดอกมีลักษณะกลมหรือเกือบกลม สีพื้นดอกมักเป็นสีขาว ขาวครีม เหลืองอ่อน
หรือเหลือง พบจุดประเล็กๆสีเข้มกระจายบนพื้นดอก ใบสั้นและแผ่กว้างมีลายตารางหรือคล้ายหินอ่อน

1.รองเท้านารีเหลืองปราจีน (Paphiopedilum concolor)
2.รองเท้านารีเหลืองอุดร (Paph. concolor)
3.รองเท้านารีเหลืองกาญจน์ (Paph. concolor Var stratianum)
4.รองเท้านารีเหลืองตรัง (Paph. godefroyae)
5.รองเท้านารีเหลืองพังงา (Paph. leucochilum)
6.รองเท้านารีขาวชุมพร (Paph. godefroyae)
7.รองเท้านารีขาวสตูล (Paph. niveum)
8.รองเท้านารีช่องอ่างทอง (Paph. x Angthong)
9.รองเท้านารีฝาหอย (Paph. bellatulum)

กลุ่มที่มีกลีบดอกแคบเรียวยาว บางชนิดพบจุดไฝสีดำ หรือกลีบดอกบิดเป็นเกลียว
มีความหลากหลายของสีสันรูปทรงของดอกมาก ใบยาวและแคบ บางชนิดพบลายตารางหรือคล้ายหินอ่อน
(ชนิดที่ 10-14) บางชนิดใบเขียวไม่มีลาย

10.รองเท้านารีคางกบคอแดง (Paph. appletonianum)
11.รองเท้านารีคางกบ (Paph. collosum)
12.รองเท้านารีม่วงสงขลา (Paph. babartum)
13.รองเท้านารีเกาะช้าง (Paph. simensis)
14.รองเท้านารีปีกแมลงปอ (Paph. sukhakulii)
15.รองเท้านารีหนวดฤาษี (Paph. parishii)
16.รองเท้านารีเชียงดาว (Paph. parishii)
17.รองเท้านารีอินซิกเน่ (Paph. insigne)
18.รองเท้านารีอินทนนท์ (Paph. villosum)
19.รองเท้านารีอินทนนท์ใบแคบ (Paph. gatrixianum)
20.รองเท้านารีดอยตุง (Paph. chaleswherthii)
21.รองเท้านารีดอยตุงกาญจน์ (Paph. sp.)
22.รองเท้านารีเหลืองกระบี่ (Paph. exul)
23.รองเท้านารีเหลืองเลย (Paph. hirsutissimum)

การปลูกรองเท้านารีนิยมปลูกในกระถางดินเผาหรืกระถางพลาสติคก็ได้ ปกติรองเท้านารีต้องการความชื้นสูงแต่ไม่ชอบแฉะซึ่งต้องพิจารณาสายพันธุ์ด้วยว่าปกติเวลาสายพันธุ์นั้นอยู่ในธรรมชาติอาศัยอยู่อย่างไร
การเจริญเติบโตของรองเท้านารีแบ่งได้ 2 ประเภทคือ
1.ขึ้นอยู่ตามหน้าผาและซอกหิน ซึ่งมีใบไม้และอินทรีย์สารผุพังทับถมอยู่ บางชนิดขึ้นอยู่กับหินปูน
2.ขึ้นอยู่ตามกิ่งไม้ใหญ่หรือเปลือกไม้ รองเท้านารีจำพวกนี้เป็นพวกรากอากาศ
เครื่องปลูกของรองเท้านารี ในส่วนเครื่องปลูกของรองเท้านารีนั้นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการปลูก เนื่องจากผู้ปลูกรองเท้านารีใหม่หากไม่ได้ศึกษาถึงนิสัยของรองเท้านารีสายพันธุ์นั้นๆแล้ว ส่วนมากจะเลี้ยงไม้รอดสักราย เครื่องปลูกที่นิยมใช้ก็มีเช่น อิฐมอญ เปลือกถั่วลิสง หินเกล็ด หินภูเขาไฟ โฟมเม็ด ดินขุยไผ่ ซึ่งแต่ละชนิดก็ใช้เครื่องปลูกต่างกัน ดังนั้นลองศึกษาหาความรู้แล้วนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิธีเลี้ยงของแต่ละท่านนะครับ

รองเท้านารีเมืองกาญจน์ Paphiopedilum parishii (Rchb. f.) Pfitz.
เป็นกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดหนึ่งในสองชนิดที่พบขึ้นบนพื้นผิวของต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นต้นไม้ที่มีลักษณะ ผิวหนาสามารถอุ้มความชื้นได้ดี และช่วยให้ระบบรากพึ่งพาอาศัยได้มาก รวมทั้งมีอัตราการผุของผิวสามารถป้อนอาหารจากอินทรีย์วัตถุ ให้กับรากได้อย่างดีด้วย พบในทำเลซึ่งอยู่บนภูเขา ซึ่งมีระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ เมตร เช่นในบริเวณตอนเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี และบริเวณเทีอกเขาภูหลวงจังหวัดเลย และอาจเลยเข้าไปถึงจังหวัดใกล้เคียงใบมีสีเขียวปลอด ทรงต้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าประเภทใบลายที่ได้กล่าวมาแล้ว ช่อดอกอาจยาวถึง ๓๐ ซม. และมีดอกบนก้านช่อได้ถึง ๗-๘ ดอก กลีบดอกสีเขียว ปลายกลีบสีม่วงปนน้ำตาลคล้ำ กลีบในเรียวแคบ และบิดเป็นเกลียวเล็กน้อยฤดูดอกประมาณ ระหว่าง เดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม ในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย แม้ในบรรยากาศของเมืองซึ่งอยู่ในที่ราบก็มีผู้สามารถปลูกและให้ดอกได้ดี แต่จากกรุงเทพลงไปสู่ภาคใต้ปลูกค่อนข้างยาก

รองเท้านารีเหลืองปราจีน
เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มกว้างประมาณ 20-25ซม. สูงประมาณ 10-20 ซม. ใบกว้าง 2.5-3.5ซม. ด้านบนใบเป็นลายสีเขียวเข้มสลับเขียวอ่อน ใต้ท้องใบมีจุดประสีม่วงเล็กน้อย ดอกกว้างประมาณ 3.7-7ซม. ช่อหนึ่งมี1-2ดอก กลีบบนและกลีบในสีเหลืองมีจุดประสีม่วงกระจายทั่วกลีบ สามารถพบอยู่ตามภูเขาหินปูน โดยขึ้นอยู่สูง 300-500เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณป่าเบญจพรรณ โดยขึ้นอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างแฉะ ความชื้นสูง ซากใบไม้ผุพังทับถม ได้รับแสงค่อนข้างน้อย กระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และตอนใต้ของจีน
รองเท้านารีคางกบ
เป็นรองเท้านารีประเภทใบลาย ปลายใบเรียวแหลม ไม่มน ดอกมีไฝ คล้ายจุดใหญ่ๆแต่มีขนที่จุดประปรายอยู่ตามผิวของกลีบในทั้งคู่กลีบนอกบนตั้งและกว้างเล็กน้อย ริมกลีบสีขาว ด้านในมีเส้นสีม่วงคล้ำบนพื้นที่สีเขียว กลีบในทั้งคู่แคบ เฉียงลงด้านล่างเล็กน้อย ก้านดอกยาวปรมาณ 15-20ซม. ก้านดอกแข็ง ให้ดอกเดี่ยว ปกติให้ดอกช่วงเดือนกค.-สค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน แหล่งกำเนิดอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-700 ม. ซึ่งค่อนข้างสูง ซึ่งสามารถปลูกในภาคเหนือได้ดี ถ้านำมาเลี้ยงในอากาศทั่วไปของภาคกลางจะให้ดอกยาก
รองเท้านารีเหลืองกระบี่ Paphiopedilum exul
มีถิ่นกำเนิดในป่าดิบชื้นจังหวัดกระบี่ ลักษณะลำต้นเป็นพุ่ม ใบยาวสีเขียวเป็นมัน ขนาดกว้าง 3-3.5 ซม. ยาว 30-35ซม.ไม่มีลาย ดอกเป็นลักษณะดอกเดี่ยว ก้านดอกสีเขียว ยาว 13-15ซม. เมื่อดอกบานเต็มที่ จะมีขนาด 6-6.5ซม. กลีบเป็นมันงุ้มด้านหน้า กลีบดอกบนสีขาว กึ่งกลางมีสีเหลืองปนเขียว และมีแต้มสีน้ำตาลเข้มรูปทรงหัวใจ ดอกออกประมาณมค.-มีค. มีการเจริญเติบโตแบบแตกกอ สามารถปลูกเลี้ยงให้เป็นกอใหญ่ออกดอกคราวละหลายๆช่อจะดูสวยงามมาก นิสัยชอบแดดมากและความชื้นสูง

การปลูกเลี้ยงช้าง


 ช้าง(Rhybchostylis) มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน ภูมิภาคแถบไทย พม่า ประเทศในแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีน และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก กล้วยไม้สกุลช้างมีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว ใบเป็นร่อง หน้าตัดของใบรูปตัววี สันล่างของใบเห็นได้ชัด ใบอาจมีหรือไม่มีเส้นใบเป็นเส้นขนานสีจาง ๆ หลาย ๆ เส้นตามความยาวของใบปลายใบหยักมน หรือเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน รากเป็นประเภทรากอากาศ คือเป็นรากที่มีขนาดใหญ่ แขนงรากใหญ่ ปลายรากมีสีเขียวซึ่งสามารถปรุงอาหารด้วยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ช่อดอกอาจห้อยลงหรือตั้งขึ้น ความยาวของช่อดอกเกือบเท่า ๆ กับความยาวของใบมีดอกเป็นจำนวนมากแน่นช่อดอก กลีบนอกและกลีบในของดอกแผ่ออก อาจมีจุดหรือ
ไม่มีจุดสีม่วงหรือสีน้ำเงินก็ได้ ขนาดของกลีบนอกโตกว่ากลีบใน เส้าเกสรสั้น ปากไม่มีีข้อพับ ปลายปากไม่หยัก หรือหยักเป็นลอนเล็ก ๆ 3 ลอน ปลายปากชี้ตรงไปข้างหน้า ปากเชื่อมต่อกับฐานสั้น ๆ ของเส้าเกสร จึงดูเหมือนว่าไม่มีฐานของเส้าเกสร เดือยของดอกแบน ชี้ตรงไปข้างหลัง มีอับเรณู 2 ก้อน แยกออกจากกัน ออกดอกปีละครั้ง บางต้นอาจมีดอกครั้งละหลาย ๆ ช่อ
 กล้วยไม้สกุลช้างพบอยู่ตามธรรมชาติเพียง 4 ชนิดเท่านั้น คือ
        
    ช้าง(Rhybchostylis gigantean
    ไอยเรศหรือพวกมาลัย (Rhybchostylis retusa)
    เขาแกะ (Rhybchostylis coelestis
    ช้างฟิลิปปินส์ (Rhybchostylis violacea)



    ลักษณะเฉพาะของแต่ละชนิด
    1. ช้าง (Rhybchostylis gigantean)

         ถิ่นกำเนิดของกล้วยไม้ช้างมีทั้งในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคาย มุกดาหาร สกลนคร เลย นครราชสีมา ต่ำลงมาจนถึงตอนเหนือของภาคกลางเช่น นครสวรรค์ ชัยนาท และภาคตะวันออก เช่น ปราจีนบุรีและยังพบแถบจังหวัดกาญจนบุรีด้วย พบขึ้นในป่าที่ระดับความสูงประมาณ 260-350 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในต่างประเทศพบที่พม่า ตอนใต้ของจีน ประเทศในแถบอินโดจีน อินโดนีเซีย และหมู่เกาะทะเลจีนใต้
    ลักษณะของช้างนั้นเป็นกล้วยไม้ที่ ใบหนาค่อนข้างแข็ง ยาวประมาณ25-30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ปลายใบเป็นแฉก 2 แฉกมน และสองแฉกของใบไม่เท่ากัน รากเป็นรากอากาศ มีขนาดใหญ่ ปลายรากมีสีเขียว ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกโค้งพองาม ช่อดอกยาวประมาณ 20-40เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ช่อละ 25-60 ดอก ขนาดดอกประมาณ2.5-3.0 เซนติเมตร กลีบนอกบนกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตรซึ่งในปัจจุบันมีฟาร์มกล้วยไม้และนักพัฒนาสายพันธุ์ได้พยายามผสมให้มีขนาดดอกที่ใหญ่ขึ้น กระบอกช่อยาวขึ้นและความแน่นของดอกให้มีความหนาแน่นเป็นอย่างมาก ซึ่งหวังว่าประเทศไทยจะพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้พันธุ์นี้ให้มีคุณภาพยิ่งๆขึ้นไป ส่วนกลีบนอกล่างทั้งคู่กว้างยาวพอ ๆ กันกับกลีบนอกบน หรือกว้างกว่าเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่อยู่ใกล้โคนกลีบ กลีบในกว้างประมาณ 0.5เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.4 เซนติเมตร ปลายกลีบเป็นส่วนที่กว้างที่สุด เดือยดอกยาวประมาณ 0.6-0.7 เซนติเมตร สองข้างเบนเข้าหากัน แผ่นปากยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ตอนใกล้ปลายกว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายแผ่นปากหนา และแข็ง อยู่ในลักษณะเหยียดตรงไปข้างหน้า ปลายปากมี 3 แฉก สองแฉกข้างมน แฉกกลางมน และมีขนาดเล็กกว่ามาก ใกล้โคนปากด้านบนมีสันนูนเตี้ย ๆ 2 สัน ดอกมีกลิ่นหอมฉุน หอมไกล ดอกบานในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์และบานทนได้ประมาณสองหรือสามสัปดาห์การที่ช้างเป็นกล้วยไม้ที่มีลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และดอกใหญ่กว่าชนิดอื่น ๆ

    ช้างในปัจจุบันในตลาดได้เรียกชื่อตามสีสันของดอก แบ่งเป็น
    1. ช้างแดง
    2. ช้างเผือก
    3. ช้างกระ
    4. ช้างการ์ตูน
    5. ช้างประหลาด เป็นลูกผสมระหว่างช้างแดงและช้างกระ
    6. ช้างส้ม
    การปลูกเลี้ยง
    เนื่องจากกล้วยไม้ช้างมีรากเป็นแบบรากอากาศ จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปลูก โดยอาจนำช้างติดกับขอนไม้หรือใส่กระเช้าไม้สักปลูกก็เพียงพอแล้ว กล้วยไม้ช้างถ้าหากให้ปู๋ยและน้ำไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดอาการทิ้งใบได้ อาการนี้ควรระวังให้ดีครับ เพราะถ้าช้างทิ้งใบมากๆมันจะดูไม่สวยงามเพราะใบเขาจะไม้ออกมาใหม่ตรงโคนแล้วนะครับ เวลารดน้ำควรสังเกตุดูเพราะจะแตกต่างจากการเลี้ยงหวายนะครับ เนื่องจากช้างไม่มีเครื่องปลูกให้เก็บความชื้น ควรรดให้ชุ่มสักหน่อย ช่วงหน้าร้อนควรรดน้ำทั้งเช้าและเย็นนะครับ การใส่ปุ๋ยก็ใส่สูตรเสมอเป็นหลักในหนึ่งเดือนอาจใส่สูตรเสมอสักสองหรือสามครั้งแล้วสูตรกลางหรือท้ายสูงสลับไปครับ สำหรับยากันเชื้อราก็ควรฉีดอย่างสม่ำเมสอทุก7วัน เมื่อถึงเวลาหน้าฝนจะทำให้ต้นกล้วยไม้เราแข็งแรงเป็นโรคยาก การเปลี่ยนกระถางกล้วยไม้ช้างเนื่องจากกล้วยไม้ช้างมีรากที่ยึดแน่นอย่างกับกระถางเก่าดังนั้นควรนำไปแช่น้ำเพือให้รากดูดน้ำเข้าไปและนิ่มจะสามารถแกะออกจากกระถางเก่าแล้วย้ายไปติดตอไม้หรือกระเช้าได้ดี กล้วยไม้ช้างจะได้ไม่พักตัวนานหากรากเกิดการเสียหาย


    2. ไอยเรศหรือพวงมาลัย (Rhybchostylis retusa)

         ไอยเรศเป็นกล้วยไม้ป่าพันธุ์แท้ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายไปทั่วประเทศ ในต่างประเทศมีพบที่ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน พม่า จีน ประเทศแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียวในประเทศไทยพบอยู่ในป่าระดับความสูงตั้งแต่ประมาณ 150-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปลูกเลี้ยงได้ง่ายให้ดอกทุกปี และชอบแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้าง

          ไอยเรศมีลำต้นใหญ่แข็งแรงคล้ายกับกล้วยไม้ช้าง แต่ใบยาวกว่าและแคบกว่า คือใบขายประมาณ 40 เซนติเมตร กว้าง 4 เซนติเมตรมีทางสีเขียวแก่สลับกับสีเขียวอ่อนตามอความยาวของใบคล้ายกล้วยไม้ช้าง โค้งห้อยลง ยาว 30-50 เซนติเมตร ก้านช่อยาวถึง 10 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ในหนึ่งช่อมีดอกประมาณ 150 ดอกมากกว่ากล้วยไม้ช้างรูปร่างลักษณะของช่อดอกที่ยาวเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายกับลักษณะของพวงมาลัย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "พวงมาลัย" ต้นใหญ่ ๆ มักจะแตกหน่อที่โคนต้น เกิดเป็นกอเป็นกอใหญ่ขึ้นได้  สีพื้นของกลีบนอกและกลีบในของดอกเป็นสีขาว มีจุดสีม่วงประปราย กลีบนอกบนยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร กลีบนอกล่างกว้าง ประมาณ 1.0 เซนติเมตร กลีบในยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร เดือยดอกมีสีม่วงอ่อน สองข้างเบนเข้าหากันยาวประมาณ 0.8 เซนติเมตร แผ่นปากยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร มีลักษณะโค้งขึ้นบนแล้วยื่นไปข้างหน้า โคนแผ่นปากกว้าง 0.5 เซนติเมตร ตรงใกล้กับปลายแผ่นปากกว้าง 0.8 เซนติเมตร มีแต้มสีม่วงตรงกลางแผ่นปากส่วนโคนและปลายสุดของแผ่นปากเป็นสีขาว ปลายแผ่นปากเว้า เส้าเกสรเห็นชัด ฤดูออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ดอกจะบานอยู่ได้ประมาณสองสัปดาห์ไอยเรศเผือกคือไอยเรศที่มีดอกสีขาว ไม่มีสีม่วงปะปนอยู่เลย ซึ่งหาได้ยากการปลูกไอยเรศอาจเกาะไว้กับกิ่งหรือท่อนไม้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดด หรือจะปลูกลงกระเช้าไม้ แขวนไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเพียงพอคือควรให้ได้รับแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้างเล็กน้อย และควรปลูกในราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ซึ่งเป็นระยะปลายฤดูแล้ง ต้นฤดูฝน เนื่องจากรากกำลังเติบโตดี

    3. เขาแกะ (Rhybchostylis coelestes)


         เขาแกะมีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทุกภาค โดยทั่วไปมักจะพบขึ้นในป่าโปร่งผลัดใบทั้งในภูมิภาคที่เป็นภูเขาและที่ราบ ในต่างประเทศมีรายงานว่าพบในลาวและกัมพูชา
    การปลูกเลี้ยงทำได้ง่าย ทนแล้งได้ดี ชอบแสงแดดและอากาศถ่ายเทมากกว่าไอยเรศและช้าง อาจปลูกติดไว้กับต้นไม้ ท่อนไม้ หรือปลูกลงกระเช้าไม้ก็ได้เขาแกะเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลช้างที่มีลักษณะช่อดอกตั้งขึ้นใบมีลักษณะแบน ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร และบางกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน โคนใบซ้อนกันเป็นแผง ใบโค้งสลับกันในทางตรงกันข้าม ด้วยลักษณะเช่นนี้เองจึงได้ชื่อว่า "เขาแกะ" ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ดอกมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกทั้งกลีบนอกและกลีบในมีพื้นสีขาว มีแต้มสีม่วงครามที่ปลายกลีบทุกกลีบ ฐานของแผ่นปากและครึ่งหนึ่งของแผ่นปากที่ต่อกับฐานมีสีขาว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของแผ่นปากเป็นสีม่วงครามเช่นเดียวกับที่ปลายกลีบ แต่สีเข้มกว่า ปากของเขาแกะคล้ายกับปากของไอเรศ สีม่วงครามของเขาแกะบางต้นอาจจะแปรเปลี่ยนไปได้ เช่น เปลี่ยนไปทางสีม่วงมากจนเกือบจะแดง จึงเรียกว่า "เขาแกะแดง" บางต้นก็แปรเปลี่ยนไปทางสีฟ้าหรือสีน้ำเงินก็มี เดือยดอกยาวกว่าและแคบกว่าของไอยเรศ ปลายของเดือยดอกโค้งลง

         ฤดูออกดอกประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ดอกบานทนประมาณสองสัปดาห์ มีผู้นำเขาแกะไปผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้ชนิดอื่นอีกหลายชนิด โดยเฉพาะกล้วยไม้ในสกุลใกล้เคียงกับกล้วยไม้สกุลแวนดา เนื่องจากปลูกเลี้ยงได้ง่าย ช่อดอกตั้ง สีของดอกเป็นสีม่วงครามหรือใกล้ไปทางสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่หาได้ยากในกล้วยไม้ทั่ว ๆ ไป ถ้าได้มีการพัฒนาลูกผสมเขาแกะต่อ ๆ ไปอีก ก็อาจจะได้กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ที่มีเลือดเขาแกะ เป็นไม้ตัดดอกหรือเป็นประเภทสวยงามก็ได้
    ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้สกุลช้างนั้น เราจะเน้นสูตรเสมอเป็นหลัก โดยจะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 18-18-18 ,20-20-20,21-21-21 + ยาเร่งราก เช่น วิตามินB1 ฉีดพ่น อาทิตย์ละ 1ครั้ง สลับกับ ปุ๋ย เร่งดอก สำหรับกล้วยไม้สกุลช้าง เราจะใช้ 16-21-27,13-27-27 +ยาเร่งรากเช่นวิตามิน B1พ่นสลับ โดยจะฉีดพ่นปุ๋ยสูตรเสมอ 2-3ครั้ง สลับกับ ปุ๋ยเร่งดอก 1 ครั้ง วนไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนกันยายน ให้ ปุ๋ย เร่งดอก สูตร 10-52-17 สัก 2ครั้งติดๆกัน 2อาทิตย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นและเตรียมพร้อมให้กล้วยไม้สกุลช้าง ให้ดอกเราในเดือนพฤศจิกายน แล้วให้ปุ๋ยสูตร 16-21-27,13-27-27,9-27-34  ตามอีกสัก2ครั้ง แล้วมาเริ่ม ใส่ ปุ๋ยสูตรเสมอ วนสลับกับปุ๋ยสูตร 16-21-27,13-27-27,9-27-34 ตามเดิม แค่นี้กล้วยไม้สกุลช้างก็จะออกดอก ที่สวยงามมาชมกันทุกปีครับ การใส่ปุ๋ยของกล้วยไม้ช้างนั้นอาจจะใส่ให้เจือจางกว่าใส่หวายประมาณ 2/3 จะไม่ทำให้รูปทรงบิดเบี้ยว ใบหักและการแขวนกล้วยไม้ช้างนั้นควรแขวนให้ปลายใบหันจากทิศตะวันออกไปตะวันตกครับ

    การปลูกเลี้ยงแวนด้า

           แวนด้า(Vanda) กล้วยไม้ในสกุลแวนด้ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ประเทศกลุ่มอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และแถบตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย เป็นกล้วยไม้ที่มีพันธุ์แท้กำเนิดในประเทศไทยหลายสายพันธุ์ อีกทั้งยังมีสายพันธุ์ที่โดดเด่นคือฟ้ามุ่ย ที่กลายเป็นพ่อแม่ที่ใช้ในการผสมให้ลูกสวยงามมากมาย แวนด้าแบ่งออกเป็น 5สกุล คือ

    แวนด้าใบ แบน(Strapleaf Vanda) แวนด้าประเภทนี้มีใบแผ่แบนออก หน้าตัดของใบจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ ปล้องสั้น จะเห็นใบซ้อนชิดกัน ปลายใบมักจะโค้งลงมา และปลายใบจะมีจักเป็นแฉก เช่น
    - ฟ้ามุ่ย (Vanda coerulea)
    - ฟ้ามุ่ยน้อย (Vanda coerulescens)
    - สามปอยนก (Vanda brunnea ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น V. liouvillei)
    - สามปอยชมพู (Vanda bensonii)
    - สามปอยดินเดีย (Vanda tessellata)
    - สามปอย (Vanda denisoniana) ซึ่งชนิดนี้ดอกมีสีแตกต่างกันไป จึงเรียกต่างกันไปคือ
            สามปอยขุนตาล ดอกมีสีเหลืองนวล เหลืองอมเขียว หรือขาวอมเขียว
            สามปอยดง ดอกมีพื้นสีน้ำตาล หรือมีลายร่างแห สีน้ำตาล
            สามปอยหลวง ดอกมีสีเหลืองหรือเหลืองอมน้ำตาล มีลายร่างแหและมีกลิ่นหอม
    - แวนด้าแซนเดอเรียนา (Vanda sanderiana)
    - เข็มขาว (Vanda lilacina)
    - เข็มเหลือง (Vanda testacea)
    - สะแล่ง (Vanda pumila)

                  แวนด้าใบ กลม (Terete leaved) แวนด้าประเภทนี้จะมีใบกลมยาวทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง เช่น เอื้องโมก (V. teres) แวนด้าฮุกเกอเรียนา (V. hookeriana) ไอ้หนวด (V. tricuspidata) ส่วนลูกผสมของแวนด้าใบกลม เช่น แวนด้า โจคิม (V. Miss Joaquim) เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้า ฮุกเกอเรียนา กับเอื้องโมก นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก เพราะเลี้ยงง่าย ออกดอกเก่ง
    ·                     แวน ด้าใบร่อง มีรูปทรงของใบและลำต้นคล้ายใบแบนมากกว่าใบกลม แวนด้าประเภทนี้ไม่พบในป่าธรรมชาติ การนำมา
    ปลูกเลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น โดยนำแวนด้าใบกลมมาผสมกับแวนด้าใบแบน 
    ·                                 แวนด้าก้างปลา มีรูปทรงของใบและลำต้น กิ่งใบกลมกับใบแบน พบตามป่าธรรมชาติน้อยมาก เพราะกล้วยไม้พันธุ์นี้เป็นหมันทั้งสิ้น
    ดอกของแวนด้าที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
          -  ก้านช่อแข็งยาว
    ·          - ก้านดอกสั้น ทำมุมกับก้านดอก 30-45 องศา สีสดใส ไม่มีสีเทาหรือน้ำตาลเจือปน
               - จำนวนดอกมาก
               - ลายบนดอกชัดเจน ความหนาของดอกดี ผิวพรรณสดใส 
               - ดอกกลม หรือ ฟอร์ม
    แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดียม (monopodial) ไม่แตกกอ แต่จะเจริญเติบโตไปทางยอด โดยลำต้นจะแตกใบออกทางด้านข้างทั้งสองและเจริญเติบโตออกไปทางยอดเรื่อยๆ รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด
    การปลูกเลี้ยง
           เนื่องจากแวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภทรากอากาศจึงปลูกใส่กระเช้าหรือกระถางพลาสติคไม้ต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ บางประเภทสามารถปลูกลงแปลงโดยใช้กาบมะพร้าววางคลุมดินไว้ก็พอเพียง ซึ่งการปลูกนั้นต้องรู้นิสัยของแวนด้าสายพันธุ์ที่เรามีอยู่ก่อน

    การปลูกเลี้ยงหวาย

          หวาย(Dendrobium spp.) ถือว่าเป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงในประเทศไทยได้ง่ายที่สุด เพราะสภาพอากาศบ้านเราเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเลี้ยง อีกทั้งยังให้ดอกง่ายทุกฤดุกาล จึงเป็นสายพันธุ์ที่มีการนำมาตัดดอกจำหน่ายส่งไปทั่วโลก การปลูกเลี้ยงก็มีหลายวิธีทั้งการปลูกลงกระบะกาบมะพร้าวอัด ปลูกลงกระถางโดยใช้กาบมะพร้าวหรือถ่าน ในส่วนกระถางสามารถใช้ได้ทั้งกระถางพลาสติคและกระถางดินเผา เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับประเทศไทยจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสม(Hybrid)ขึ้นมามากมายหลายสีสัน ในปัจจุบันได้มีการปลูกเพื่อขายทั้งกระถาง(Potplant)เพื่อจะนำไปประดับตกแต่งสถานที่ต่างๆ เช่นโรงแรม ห้องประชุม โรงพยาบาล สำนักงาน เนื่องจากมีราคาถูก ออกดอกง่าย ดูแลง่าย
     กล้วยไม้หวาย เป็นกล้วยไม้ที่สกุลใหญ่ที่สุด มีแหล่งกำเนิดในเขตร้อนของภูมิภาคเอเชีย และมหาสมุทรแปซิฟิค มีระบบรากกึ่งอากาศและมีการเจริญเติบโตแบบแตกกอ(Sympodial) มีการเจริญเติบโตดีกว่ากล้วยไม้ประเภทอื่นๆแตกหน่อ2-3หน่อต่อปี โดยปกติจะเกิดหนึ่งหน่อต่อหนึ่งลำ แต่ถ้าเลี้ยงดีอาจให้สองหน่อต่อหนึ่งลำได้ ลำๆหนึ่งใช้เวลาประมาณ3-6เดือนก็จะเจริญสุดลำ เมื่อกล้วยไม้เจริญสุดลำก็จะให้ดอก1-5ช่อจากตาที่ปลายลำและตาข้อที่ถัดลงมา ซึ่งแต่ละลำสามารถให้ช่อได้ประมาณ5-15ช่อแล้วแต่สายพันธุ์และความสมบูรณ์ของต้น
    หวายแคระ
    ·                     การ รดน้ำ ปกติรดน้ำในช่วงเช้าวันละ1ครั้ง แต่ถ้าในฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนจัดอาจให้ตอนเย็นเพิ่มอีกครั้ง แต่ควรสังเกตุให้แห้งก่อนค่ำ เพราะถ้ารดน้ำมากไปอาจทำให้เกิดโรคขึ้นได้
    ·                     การ ให้ปุ๋ย ในฤดูร้อนควรให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 21-21-21,18-18-18 เพราะกล้วยไม้ต้องการไนโตรเจน แต่ในฤดูฝนควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูงสลับกับฟอสฟอรัสสูงสลับกัน เพราะในน้ำฝนมีธาตุไนโตรเจนเจือปนมาอยู่แล้ว ถ้ายังให้ปุ๋ยสูตรเสมออยู่จะทำให้กล้วยไม้ต่อยอด ออกดอกยาก ปลายยอดบิดเบี้ยวเสียรูปทรง
    ·                     ยา ฆ่าเชื้อราและยาฆ่าแมลง ควรให้ทุกอาทิตย์ สำหรับท่านที่ปลูกเลี้ยงไว้ดูเล่นภายในบ้านอาจเปลี่ยนมาใช้พวกสารชีวภาพ เพื่อสุขภาพของคนในครอบครัว เช่นยาฆ่าแมลงก็ใช้น้ำส้มควันไม้
    เครื่องปลูกสำหรับกล้วยไม้สกุลหวาย
    1. กาบมะพร้าว เป็นเครื่องปลูกที่เหมาะมากสำหรับหวาย เพราะนอกจากจะทำให้หวายเจริญงอกงามและแข็งแรงดีแล้ว ยังเป็นสิ่งที่มีอยู่มากมาย ราคาถูก แต่ต้องเป็นกาบมะพร้าวที่แก่จัด และมีกาบหนาแข็ง ก่อนใช้ควรแช่น้ำทิ้งไว้สักหนึ่งวันเพื่อให้ยางในกาบมะพร้าวออกไป เพราะยางในกาบมะพร้าวทำให้รากหวายออกได้ไม่ดี และกาบมะพร้าวอ่อนนิยมนำมาปลูกไม้นิ้วหวายด้วย กาบมะพร้าวเป็นเครื่องปลูกที่อุ้มน้ำได้ดี หาง่ายได้ตามท้องถิ่น วิธีใช้ก็ตัดส่วนหัวและท้ายออก และนำมาหุมโคนต้นกล้วยไม้ โดยอย่าให้ตื้นหรือลึกเกินไปให้อยู่พอดีโคนต้นแล้วก็ยัดใส่กระถางได้เลยครับ หรือจะเกาะตามต้นไม้ก็นำหุ้มไว้ด้านนอกนะครับ
    2. ถ่าน เหมาะกับการปลูกหวายขนาดใหญ่ แต่มีข้อเสียคือ เก็บความชื้นได้ไม่สู้ดี แต่สามารถป้องกันโดยใช้อ๊อสมันด้าคลุมหน้า แต่ถ่านเป็นเครื่องปลูกที่คงทนสามารถใช้งานได้ยาวนานไม่ผุพังเร็วเหมือนกาบมะพร้าว แต่สักสองปีก็ควรเปลี่ยนนะครับ เพราะถ่านจะอมปุ๋ยยาไว้ทำให้นานๆไปจะเป็นพิษต่อกล้วยไม้ได้
    3. อ๊อสมันด้า เก็บความชื้นดี ทนทาน ไม่ผุง่าย อุ้มปุ๋ยได้ดี ถ้าปลูกถูกวิธีจะไม่เก็บน้ำไว้มากจนรากชื้นแฉะ แต่มีราคาแพง
     ไม่ควรนำกล้วยไม้หวายติดตอไม้โดยไม่มีเครื่องปลูกนะครับ อาจหุ้มด้วยเศษกาบมะพร้าวหรืออ๊อสมันด้าเล็กน้อย เพราะกล้วยไม้หวายจะไม่งาม
    ลักษณะกล้วยไม้หวายที่ดี
    1. ปลูกเลี้ยงง่าย ทนต่อโรค
    2. เจริญเติบโตเร็ว ออกดอกเร็ว และดกตลอดปี
    3. รูปทรงต้นแข็งแรง ลำต้นไม้สูงเกินไปเหมาะแก่การนำไปตกแต่งประดับสถานที่
    4. ทนต่อแมลงศัตรูพืชต่างๆ
    5. ช่อดอกยาว ตั้งตรงแข็งแรง
    6. ดอกเรียงเป็นระเบียบสวยงาม ดอกบานทนไม่ร่วงง่าย
    7. ดอกมีสีสันสดใส กลีบหนา รูปทรงดอกได้สมดุล